วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การขนส่งทางรถไฟในจีน


การใช้บริการการขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟมีสภาพที่คับคั่งและแออัดยัดเยียดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ดังนั้นกว่ารตอ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์จะเข้าไปถึงชานชาลาได้ ก็ต้องเบียดเสียดผู้คนเข้าไปอย่างทุลักทุเล รถไฟสายตงเป่ยลู่เสี้ยน(สายตะวันออกเฉียงเหนือ)ระหว่างปักกิ่ง-เมืองฉี๋ฉี๋ฮาเออ เคลื่อนออกจากสถานีรถไฟปักกิ่งช้าๆ ตั๋วโดยสารนั่งราคา ๑๕๑ หยวน(หยวนละ ๔.๕บาท) เดินทางจากปักกิ่งถึงเมืองฮาเอ่อร์ปิน(ฮาร์บิน) ใช้เวลา ๑๖ ชั่วโมง
ในขบวนรถมีผู้ชายแย่งที่นั่งหญิงสาว หากเอากระเป๋าลงมาก็จะมีผู้โดยสารอื่นเอาของขึ้นไปวางแทน จีนเป็นชาติใหญ่ไม่มีใครเห็นใจใคร คนไทยที่ไปเที่ยวจีนหรือไปทำงานในเมืองใหญ่ไม่มีโอกาสได้เห็นภาพเช่นนี้ ถ้าไม่มีคนพูดภาษาจีนกลางไปด้วยห้ามเดินทางเด็ดขาด
จีนมีประชากรกว่า ๑,๓๐๐ ล้านคน การขนส่งผู้โดยสารจำนวนมากทำอย่างไรก็ไม่เพียงพอ รถประจำทางและรถไฟจึงมีตั๋วยืนราคาถูกลงมา แค่ลุกไปห้องน้ำบนรถไฟสายยาวของจีนก็จะมีผู้โดยสารตีตั๋วยืนเข้านั่งแทน ความลำบากทำให้คนจีนที่ไปเห็นทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ในแอฟริกาไปตั้งถิ่นฐานใหม่ประเทศละหลายหมื่นคน บางประเทศมีคนจีนเป็นแสนคน
เมื่อวันที่๙ มกราคม ๒๕๕๑ เจ้าหน้าที่ของจีน มองโกเลีย รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์และเยอรมนีลงนามบันทึกช่วยจำที่ปักกิ่งขยายความร่วมมือด้านการขนส่งสินค้า รถไฟสายโลจิติกส์จากปักกิ่งขบวนแรกได้แล่นออกจากฐานโลจิติกส์ของบริษัท ไชนา เรลเวย์ คอนเทนเนอร์ ทรานสปอร์ต (China Railway Containner Transport) สู่ปลายทางนครฮัมบูร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีระยะทาง ๙,๗๘๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๑๘ วัน
จีนและเวียดนามได้เปรียบไทยมาก ทิศเหนือของเวียดนามเป็นเขตปกครองตนเองกว่างซี มีถนนและรถไฟไปเชื่อมต่อกับมณฑลต่างๆของจีน เวียดนามมีท่าเรือน้ำลึกหลายแห่ง อยู่ไม่ไกลจากมณฑลตอนใต้ของจีนกับมณฑลตะวันออกซึ่งมีเครือข่ายท่าเรือเชื่อมกับรางรถไฟ สินค้าจากทั้งสองประเทศจึงใช้รถไฟไประบายในสาธารณรัฐแลนด์ล็อกที่ไม่มีทางออกทะเล
จากปักกิ่งเดินทาง ๑๖ ชั่วโมงถึงนครฮาเอ่อร์ปิน มณฑลเฮยหลงเจียงอยู่ติดกับรัสเซีย นักเดินทางต้องหาซื้อเสื้อผ้าใหม่เพราะเสื้อผ้าที่ใส่จากกรุงปักกิ่งรับอุณหภูมิได้ประมาณ ๑ ถึง ๑๐ องศาเซ็นเซียส แต่อุณหภูมิกลางคืนนอกเมืองฮาเอ่อร์ปินต่ำประมาณ ๓๕ องศา ในตัวนครฮาเอ่อร์ปิน ประมาณ๒๖ องศา
คนไทยคุ้นเคยกับการลงทุนที่มณฑลทางภาคใต้และเมืองท่าของจีน ได้แก่ หยุนหนาน กว่างตง (กวางตุ้ง) ผูเจี้ยน ไหหนาน (ไหหลำ) เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางเรือ โดยเห็นว่าภาคเหนือกับภาคตะวันตกที่ติดกับมองโกเลีย รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซ ฯลฯ ยังไม่เจริญ

จีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีที่ติดทะเลทางตอนใต้และตะวันออกบางส่วน การพัฒนาประเทศจึงไม่กระจาย จากการประชุมที่ซีอานทำให้รู้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า(พ.ศ.2558) จีนจะใช้เงินสร้างรางรถไฟอีก 127 พันล้านหยวน(693,000 ล้านบาท) จะสร้างสนามบินอีก 28 แห่ง และปรับปรุงสนามบินหลักอีก 27 แห่งใน 12 มณฑลทางภาคตะวันตก โดยใช้เงินอีก 20 พันล้านหยวน(แสนกว่าล้านบาท) เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจากทุกทวีปบินตรงไปยัง 12 มณฑลทางภาคตะวันตกโดยไม่ต้องผ่านปักกิ่งหรือภาคอื่นๆ กระทรวงรถไฟจีนยังมีโครงการจะสร้างรถไฟหลายสาย เช่น
1. เส้นทางรถไฟจากนครคุนหมิง มณฑลหยุนหนานมาสิงคโปร์ ผ่านพม่า ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ นายหวัง หลินซู กล่าวถึงเฉพาะข้อดีด้านการขนถ่ายสินค้า การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างจีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย และการหาทางออกทะเลให้สินค้าที่ผลิตจากทางตอนใต้ของจีนสู่สิงคโปร์แต่ไม่ได้พูดถึงเมืองไทย
2. เส้นทางรถไฟจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ไปสาธารณรัฐต่างๆในเอเชียกลาง มีการประชุมว่าจะสร้างรางนานาชาติระยะทาง 300 กม. รถไฟระหว่างจีน คีร์กีซ และอุซเบกิสถาน เพื่อไปเชื่อมกับรางเดิมของแต่ละประเทศ เริ่มจากเมืองกาชิในซินเจียงฯ ผ่านประเทศคีร์กีซไปยังเมืองแอนดิซฮานในอุซเบกิสถาน
ซินเจียงอุยกูร์กว้างใหญ่กว่าไทยหลายสิบเท่า ผลิตผลไม้และฝ้ายปีละมากๆ แต่ไม่มีตลาด เพราะขาดเส้นทางการขนส่ง ท่าเรือก็ไม่มี จะส่งทางเครื่องบินก็แพง ขณะที่แทบทุกสาธารณรัฐในเอเชียกลางมีน้ำมันมาก เมื่อจีนไม่มีน้ำมันก็ทำให้เกิดการแลกสินค้ากันโดยใช้รถไฟ